เทคโนโลยี AI แค่สแกนภาพใบหน้า ก็รู้ว่าใครชอบเพศเดียวกัน เกี่ยวกับ เกย์
สนับสนุนเนื้อหา
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดคิดค้นเครื่องตรวจสอบบุคคลชอบเพศเดียวกันได้ถูกต้องมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ โดยสามารถแยกเกย์และผู้ชายออกจากกันได้ถูกต้องถึงร้อยละ 81 และสามารถแยกเลสเบี้ยนและผู้หญิงได้ถูกต้องถึงร้อยละ 74 อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมการใช้เทคโนโลยีและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
งานวิจัยล่าสุดของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คิดค้น Artifical Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถตรวจสอบว่าบุคคลใดเป็นบุคคลชอบเพศเดียวกัน ผ่านการวิเคราะห์ใบหน้าจากภาพ ถูกตีพิมพ์ในวารสารด้านบุคลิกภาพจิตวิทยาและสังคม กล่าวถึงการใช้เครื่องตรวจสอบ “gaydar” ได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์
มีการเก็บข้อมูลใบหน้าผู้ชายและผู้หญิงกว่า 35,000 ภาพบนเว็บไซต์หาคู่ของสหรัฐฯ ซึ่งทีมวิจัยได้ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ลักษณะใบหน้าของแต่ละบุคคลด้วยการใช้ Deep Neural networks ซึ่งหมายถึงระบบคณิตศาสตร์เชิงซับซ้อนที่สามารถวิเคราะห์ภาพได้โดยใช้ชุดข้อมูลขนาดใหญ่เป็นพื้นฐาน
ตามรายงานระบุว่า เครื่องที่เกิดจาก AI นี้ สามารถสแกนภาพและสรุปได้ว่าใครชอบเพศเดียวกันบ้างได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถแบ่งผู้ชายและเกย์ได้ถูกต้องร้อยละ 81 และแบ่งผู้หญิงและเลสเบี้ยนได้ถูกต้องร้อยละ 74 แต่ถ้าให้มนุษย์แบ่งจะสามารถแบ่งผู้ชายและเกย์ได้ถูกต้องร้อยละ 61 ขณะที่แบ่งผู้หญิงออกจากเลสเบี้ยนได้เพียงร้อยละ 54 เท่านั้น
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ตพบว่า เกย์และเลสเบี้ยนมีแนวโน้มที่มีลักษณะแตกต่างกัน รวมทั้งการแสดงออกและสไตล์ เมื่อเทียบกับผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ ข้อมูลระบุว่า ส่วนมากเกย์จะมีจมูกที่ยาวกว่า หน้าผากกว้างกว่า หรือขากรรไกร (กราม) ที่แคบกว่าผู้ชาย ส่วนเลสเบี้ยนจะมีขากรรไกร (กราม) ใหญ่กว่า และมีหน้าผากเล็กกว่า เมื่อเทียบกับผู้หญิง
ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ไปสอดคล้องกับทฤษฎีที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของบุคคลบุคคลหนึ่งนั้น อาจเกิดจากการได้รับฮอร์โมนหรือยีนส์ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด อาจไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ก็เป็นได้ แต่ว่ายังมีข้อจำกัดในการพิจารณาบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่นๆ ได้ เช่น บุคคลข้ามเพศและไบเซ็กชวล รวมทั้งบุคคลผิวสี เพราะไม่ได้รวมอยู่ในงานวิจัยด้วย
ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของจริยธรรมและการละเมิดความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล และอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลกลุ่มนี้ที่อยู่ในสังคมที่ยังไม่เปิดรับ หรืออยู่ในประเทศที่มีกฎหมายลงโทษกลุ่มคนรักร่วมเพศ
มีนักวิชาการบางคนตั้งคำถามว่านี่เป็นการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิดหรือไม่ หรือแม้แต่เราจะได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งนี้?
ที่มา: theguardian, CNBC
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น